วันเสาร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

วันพุธรับเถ้าและเทศกาลมหาพรต

จงกลับใจใช้โทษบาปและเชื่อพระวรสารเถิด”

(มก. 1 : 15)

 

 

วันพุธรับเถ้า เป็นวันเริ่มเทศกาลมหาพรต

คือ ระยะเวลา 40 เพื่อเตรียมสมโภชปัสกา

ซึ่งเป็นวันฉลองที่สำคัญที่สุดของพระศาสนจักร

เพราะสมโภชปัสกาเป็นการเฉลิมฉลองการรับทรมาน 

สิ้นพระชนม์และทรงกลับคืนพระชนม์ชีพของพระเยซูเจ้า

เพื่อกอบกู้มนุษยชาติให้คืนดีกับพระเจ้า

มารับชีวิตร่วมกับพระองค์

 

 

เถ้าเป็นเครื่องหมายของ “ความทุกข์ถึงบาป”

เราพบความหมายนี้อย่างชัดเจนในพระวรสารของนักบุญมาระโก (มก. 1 : 15)

 จงกลับใจใช้โทษบาปและเชื่อพระวรสารเถิด”

 

"เถ้า" หมายถึงสภาพของมนุษย์คนบาป ซึ่งพยายามแสดงความสำนึกผิดของตนต่อพระเจ้า ออกมาเป็นพิธีภายนอก ให้เห็นว่าเขาต้องการกลับใจเพราะหวังว่าพระเจ้าจะทรงพระกรุณาให้อภัย 

การรับเถ้า จึงเป็นเครื่องหมายถึงการเริ่มเดินทางมุ่งสู่การกลับใจไปสู่การรับศีลอภัยบาปในเทศกาลมหาพรต ความต่ำต้อยของมนุษย์อันเป็นผลมาจากบาป “มนุษย์เอ๋ย จงระลึกเถิดว่า เจ้าเป็นแค่ฝุ่นดินและจะกลับไปเป็นฝุ่นดินอีก” (ปฐก. 3 : 19)  

 

"เถ้า" ยังอาจหมายถึงความสกปรก (บาป) ซึ่งใช้น้ำชำระให้สะอาดได้ (ศีลล้างบาป) ฉะนั้น เราเริ่มเทศกาลมหาพรตด้วยพิธีโรยเถ้าจึงเป็นเครื่องหมายที่นำไปสู่ความสมบูรณ์ครบครันในการรื้อฟื้นคำมั่นสัญญาแห่งศีลล้างบาปของคริสตชนและการล้างบาปคริสตชนใหม่(ตามธรรมเนียมของพระศาสนจักร)  ในคืนวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์ (มิสซาตื่นเฝ้าปัสกา)

 

ธรรมเนียมที่ให้โรยเถ้า ที่ได้จากใบลานซึ่งเสกในปีก่อนนั้นเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในศตวรรษที่ 12 หมายถึงชัยชนะของพระเยซูเจ้าในฐานะกษัตริย์ในการเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มอย่างสง่า(ภาพอนาคตของการกลับคืนชีพ)เมื่อเอามาเผาเป็นเถ้าและโรยเพื่อเตือนใจให้คริสตชนใช้โทษบาปและยังเป็นสิ่งที่บอกคริสตชนว่า การใช้โทษบาปนี้ มีเป้าหมายเพื่อ เตรียมการฉลองชัยชนะแห่งการกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้า

 

    การรับเถ้า เครื่องหมายการเป็นทุกข์กลับใจในพิธีกรรม 

พิธีเสกและโรยเถ้า” แสดงออกอย่างชัดเจนในชีวิตคริสตชน


 


 

วันพุธรับเถ้าเป็นวันใช้โทษบาปสากลของพระศาสนจักร

คริสตชนผู้มีอายุตั้งแต่ 14 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ต้องอดเนื้อ

คริสตชนทีมีอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้น

ไปจนถึงอายุ 59 ปีบริบูรณ์ ต้องอดอาหาร

 


 

มหาพรต หมายถึงระยะเวลา 40 วัน ก่อนฉลองปัสกา 

เป็นเวลาอุดมสมบูรณ์ของฝ่ายจิตใจ

"มหาพรต" คือการ การถือพรตครั้งใหญ่ของคริสตชน

 


 

 เทศกาลมหาพรตเป็นช่วงเวลาประมาณ 5 สัปดาห์ โดยเริ่มตั้งแต่วันอาทิตย์แรกของเทศกาลมหาพรต เป็นการเดินทางมุ่งหน้าด้วยความยินดีไปเฉลิมฉลองปัสกาในช่วงเวลาตลอดการเดินทางนี้เราจึงต้องละทิ้งกิจการชั่วร้ายต่าง ๆ  

 

เทศกาลมหาพรต ถือเป็นช่วงเวลาแห่ง การอธิษฐานการภาวนา (Praying) การจำศีลอดอาหาร (Fasting) และ การให้ทาน (Alms Giving) ซึ่งเป็นการเตรียมสำหรับการเฉลิมฉลองการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้าหรือสมโภชปัสกา วันนี้จึงเป็นวันเริ่มต้น 40 วันแห่งการเลียนแบบพระเยซูเจ้าที่ทรงจำศีลอดอาหารในถิ่นทุรกันดารและได้รับการทดลองจากปีศาจ

 

การจำศีลอดอาหาร การอธิษฐานภาวนา การให้ทานจึงเป็นโอกาสให้เราคิดถึงความรักต่อพระเจ้าและต่อเพื่อนพี่น้อง ด้วยการช่วยเหลือแบ่งปันให้แก่กัน 

 

การจำศีลอดอาหารช่วยให้เรารู้จักประมาณตนในการกินดื่มเพื่อไม่ปล่อยตัวให้กินดื่มจนเมามายซึ่งจะเป็นเหตุให้เราตกในบาปได้โดง่าย 

 

การจำศีลอดอาหารในความหมายแท้จริงจึงต้องพิจารณาควบคู่ไปกับการดำเนินชีวิตคริสตชนให้ครบทุกด้าน ไม่ใช่แยกอยู่อย่างเอกเทศ

 

เทศกาลมหาพรตเป็นเทศกาลแห่งการกลับใจเราต้องมีความใกล้ชิดกับพระเจ้ายิ่งขึ้นไม่ใช่เพียงด้วยการอธิษฐานภาวนาเท่านั้น

 

แต่เรายังต้องใกล้ชิดกับพระองค์ผ่านทางเพื่อนพี่น้องซึ่งก็เป็นบุตรของพระเจ้าด้วย โดยการแสดงความรักช่วยจุนเจือความขัดสนของเขา ด้วยการเสียสละเงินทองส่วนหนึ่งที่ได้มาจากการอดออมเพื่อช่วยให้ผู้หิวได้มีอาหาร เพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้ให้มีที่พึ่งพิง

 

        ในปัจจุบัน พระศาสนจักรลดหย่อนข้อบังคับเรื่องการจำศีลอดอาหารในเทศกาลมหาพรตลงเหลือเพียง 2 วัน คือในวันพุธรับเถ้า และในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ ระลึกถึงพระทรมาน และการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูคริสตเจ้าบนไม้กางเขน (Apostolic Constitution “Paenitemini” 1966)

แต่พระศาสนจักรยังคงรักษาจิตตารมณ์แท้จริงของเทศกาลมหาพรตไว้ไม่เปลี่ยนแปลง คือ การกลับใจ สละน้ำใจของตนเอง เพื่อปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระบิดาเจ้าให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นเหมือนองค์พระเยซูเจ้า เพื่อจะได้พร้อมที่กลับคืนชีพพร้อมกับพระองค์ในคืนวันปัสกา

 

 

 


ข้อกำหนดของพระศาสนจักรว่าด้วยเรื่อง การจำศีลในเทศกาลมหาพรต
     
ขอให้พี่น้องได้ปฏิบัติตามจิตตารมณ์ของพระศาสนจักรดังต่อไปนี้ 

 

1.ตามบัญญัติของพระเจ้าคริสตชนทุกคนต้องชดเชยใช้โทษบาปของตนตามวิธีการของแต่ละคนและเพื่อการปฏิบัติร่วมกัน จึงได้กำหนดวันชดเชยใช้โทษบาป ซึ่งคริสตชนจะได้สวดภาวนา ปฏิบัติกิจเมตตาปรานีและความรักเป็นพิเศษ เสียสละตนเองและทำหน้าที่ของตนอย่างซื่อสัตย์  (ม.1249)

2.ทุกวันศุกร์ตลอดปีและทุกวันในเทศกาลมหาพรต เป็นวันพลีกรรมในพระศาสนจักรทั่วไป (ม.1250)

3.ทุกวันศุกร์ตลอดปี ยกเว้นวันฉลองใหญ่ เป็นวันอดเนื้อหรืออาหารอื่นตามข้อกำหนดของสภาพระสังฆราชฯ วันพุธรับเถ้าและวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ เป็นวันอดเนื้อและอดอาหาร (ม.1251)

4.คริสตชนทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 14 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ต้องอดเนื้อ คริสตชนทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปจนถึง 59 ปีบริบูรณ์ ต้องอดอาหาร

 

สำหรับประเทศไทย อาศัยอำนาจตามมาตรา 1253 ของกฎหมายพระศาสนจักร สภาพระสังฆราชฯ จึงกำหนดวิธีการอดเนื้อและอดอาหารดังต่อไปนี้

 

การอดเนื้อ

ผู้ที่ได้ปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งตามกำหนดนี้ ถือว่าได้ถือตามกฎการ อดเนื้อ คือ

ก.อดเนื้อ

ข.ปฏิบัติกิจศรัทธานอกเหนือไปจากที่เคยปฏิบัติ  อาทิ  เดินรูป 14 ภาค เฝ้าศีลมหาสนิท สวดสายประคำ ฯลฯ

ค.ปฏิบัติกิจเมตตาปรานี เช่น ให้ทานคนจน เยี่ยมคนเจ็บป่วย ฯลฯ

ง.งดเว้นอาหารหรือสิ่งที่เคยปฏิบัติเป็นประจำ อาทิ งดดื่มสุรา เบียร์ บุหรี่

จ. รู้จักอดออมและละเว้นความฟุ้งเฟ้อต่างๆ

 

การอดอาหาร

หมายถึง การรับประทานอาหารอิ่มเพียงมื้อเดียว

 

 

ขอขอบคุณ ภาพประกอบ นำมาจากอินเตอร์เนต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น