วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

นักบุญโยอากิม และ นักบุญอันนา

 นักบุญโยอากิม และ นักบุญอันนา บิดามารดาของพระนางมารีย์พรหมจารี

 


ในพระวรสารไม่ได้มีการกล่าวถึงบิดามารดาของพระนางมารีย์ แต่ในเอกสารโบราณ "พระวรสารนักบุญยากอบ"  ซึ่งไม่ถือว่าเป็นพระคัมภีร์ เป็นเพียงตำนานที่เล่าชีวิตของพระนางมารีย์ในวัยเด็กที่บอกให้เราทราบว่า บิดามารดาของพระนางมารีย์ ชื่อว่า อันนา (Anna) หรือ Hannah ซึ่งหมายถึง “พระหรรษทาน” หรือ ความโปรดปราน ส่วนชื่อโยอากิม (Joachim) ภาษาฮีบรู “Jehoyaqim” แปลว่า พระยาห์เวห์ทรงยกขึ้น” หรือ “ทรงตั้งขึ้นมา

ท่านทั้งสองสืบทอดเชื้อสายมาจากความเชื่อของท่านอับราฮัม เป็นประชากรที่ถูกวางรูปแบบโดยท่านโมเสส ซึ่งในหนังสืออพยพบรรยายไว้ในฐานะที่กระหายหาที่จะรู้จักพระพักตร์ของพระเจ้า 

 


เอกสารโบราณ “พระวรสารนักบุญยากอบ” นี้บอกให้เราทราบว่า ทูตสวรรค์ได้ปรากฏแก่นักบุญโยอากิมและอันนา แจ้งข่าวแก่ทั้งสองว่าจะให้กำเนิดบุตร และนักบุญอันนาได้สัญญาจะยกถวายบุตรให้กับพระเจ้า แสดงว่า บิดามารดาของพระนางมารีย์ได้รับการเลือกสรรจากพระเจ้า ให้อยู่ในแผนการแห่งความรอดด้วย

 ท่านทั้งสอง ได้นำพระนางมารีย์ไปที่พระวิหารเมื่ออายุ 3 ขวบ และมอบพระนางให้ถวายรับใช้แด่พระเจ้านั้นเป็นการทำตามที่นักบุญอันนาได้ภาวนาไว้ และประกาศว่าบุตรีของพวกท่านที่ชื่อ “มารีย์” ได้ถือกำเนิดมาเป็นการสนองตอบคำภาวนาอย่างศรัทธาร้อนรนหลังจากที่แต่งงานกันมานาน แต่ไม่มีบุตร

 


พระศาสนจักรให้เกียรตินักบุญโยอากิมและอันนาเพราะทั้งสอง เป็นบิดาและมารดาของพระนางมารีย์ ผู้เป็นมารดาของพระเจ้า นอกจากให้กำเนิดแล้ว ยังได้เลี้ยงดู และอบรมบ่มเพาะความเชื่อแก่พระนางมารีย์ เมื่อพระศาสนจักรรักและให้เกียรติพระนางมารีย์มาก จึงไม่แปลกที่จะรักและศรัทธานักบุญโยอากิมและอันนาด้วย โดยเฉพาะ การที่พระนางมารีย์ตอบรับต่อแผนการและพระประสงค์ของพระเจ้าด้วยความสุภาพ แสดงถึงความเชื่ออย่างเต็มเปี่ยมของผู้ที่ได้รับการอบรมมาดี

นักบุญอันนา และ นักบุญโยอากิม เป็นแบบอย่างสำหรับของพ่อแม่ที่เป็นคริสตชนทุกยุคทุกสมัย ท่านเป็ แบบอย่างของความซื่อสัตย์ และ ความขยันขันแข็ง ความศรัทธาและความถ่อมตน

พระสันตะปาปา ซิสตุส ที่ 5 ในปี ค.ศ. 1585 ได้ประกาศวันฉลองทางพิธีกรรมในวันที่ 21 พฤศจิกายน ว่าเป็นวันถวายองค์ในพระวิหารของพระนางมารีย์เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกันเป็นพิเศษเช่นนี้ 

 


คุณลักษณะโดดเด่นของแม่พระในการตัดสินใจทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า ความพร้อมของพระแม่เมื่อต้องเผชิญกับวิกฤติ การภาวนาอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย การถือตามบทบัญญัติของชาวยิวอย่างศรัทธา การอุทิศตนไปรับใช้ญาติพี่น้อง (= ช่วยนางเอลีซาเบ็ธ) สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องหมายชี้ให้เห็นถึงความใกล้ชิดของครอบครัวที่เลี้ยงดูและปลูกฝังพระแม่มาในความรักและศรัทธาในพระเป็นเจ้านั่นเอง

วันฉลอง นักบุญอันนา และ นักบุญโยอากิม ค่อนข้างมีมาแต่โบราณในพระศาสนจักรตะวันออก (ตั้งแต่ ศตวรรษที่ 4) แต่กลายมาเป็นทั่วพระศาสนจักรสากลในศตวรรษที่ 15-16 แต่เดิมวันที่ 26 กรกฎาคม เป็นวันฉลองนักบุญอันนาผู้เดียว จนกระทั่งต่อมากลายเป็นวันฉลองของบิดามารดาของพระแม่เมื่อไม่นานมานี้เอง

วันฉลองนี้ ในแง่หนึ่งเตือนใจพ่อแม่และปู่ย่าตายาย ถึงความรับผิดชอบที่จะเลี้ยงดูอบรมให้ลูกหลานถือตามคุณค่าของมนุษย์ที่ปฏิบัติกันสืบต่อๆมา และนำเสนอให้พวกเขาเห็นแสงแห่งความหวังสืบทอดต่อไปในรุ่นแห่งอนาคต ในอีกแง่หนึ่ง เตือนผู้เยาว์ว่า มุมมองที่กว้างขวางกว่าของผู้สูงอายุ ประสบการณ์ที่ลึกซึ้ง และความซาบซึ้งที่ลึกซึ้งของจังหวะชีวิตของผู้อาวุโส เป็นส่วนทั้งหมดของปรีชาญาณที่ไม่อาจมองข้ามไป หรือรับไว้โดยไม่เห็นคุณค่าความหมาย


 ขอบคุณข้อมูลจาก
คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day

และพ่อขวัญ นะคะ 

วันพุธที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2565

นักบุญ ยอห์น เวียนเนย์

 

นักบุญ ยอห์น เวียนเนย์      วันฉลอง : วันที่ 4 สิงหาคม

เกิดในปี 1786 ที่เมืองลีออง ประเทศฝรั่งเศส ตายปี 1859

องค์อุปถัมภ์ พระสงฆ์เจ้าอาวาส

ยอห์นเกิดในปี 1786 ที่ประเทศฝรั่งเศส ท่านเติบโตและทำงานในท้องทุ่งของพ่อของท่าน เมื่อท่านอายุได้ 18 ปี ท่านได้ตัดสินใจที่จะเป็นพระสงฆ์ เริ่มแรกท่านต้องได้รับการช่วยเหลือให้เรียนภาษาลาติน ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับท่านจนทำให้ท่านคิดจะล้มเลิกความตั้งใจหลายครั้งหลายหน 

วันหนึ่งท่านได้ตัดสินใจที่จะเข้าไปภาวนาในสักการะสถานของนักบุญยอห์นฟรังซิส เรยิส (นักบุญที่มีชื่อเสียงในฝรั่งเศส) ท่านภาวนาเพื่อขอให้พระองค์ ได้ช่วยเหลือในเรื่องการเรียนภาษาลาติน หลังจากที่ได้ภาวนาท่านก็ยังคงมีปัญหา แต่ท่านไม่คิดที่จะยอมแพ้หรือยกเลิกความตั้งใจ พระเจ้าประทานความเข้มแข็งให้ท่านได้เดินหน้าต่อไปแม้ว่าจะมีความยากลำบากเพียงไรในที่สุดท่านได้เข้าบ้านเณร การเรียนในบ้านเณรไม่ใช่เรื่องง่าย ท่านเรียนได้ไม่ดีนัก การสอบก็ได้คะแนนไม่ดี ท่านไม่ใช่คนที่เรียนเก่งหรือฉลาด แต่อย่างไรก็ตามพระสังฆราชคิดว่าท่านเป็นคนศักดิ์สิทธิ์และสามารถเป็นพระสงฆ์ได้ ดังนั้นพระสังฆราชจึงโปรดศีลบวชให้ท่านเป็นพระสงฆ์ 

 



พระสังฆราชส่งท่านไปเป็นเจ้าอาวาสที่เมืองเล็ก ๆ ชื่อเมืองอาร์สที่นี่ท่านเห็นคนมากมายดื่มเหล้า สบถสาบาน ด่าว่าร้ายกัน และวัดก็ว่างเปล่าวันอาทิตย์ไม่มีใครมาเข้าวัดเพื่อแก้บาปรับศีลฯ ท่านตัดสินใจที่จะภาวนาเพื่อสัตบุรุษของท่านแลtยังได้ทำกิจใช้โทษบาป เพื่อให้พวกเขาได้กลับใจ เปลี่ยนแปลงชีวิตใหม่ ต่อมาคำภาวนาของท่าน บังเกิดผล

 


สัตบุรุษเริ่มมาร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณ และโรงเหล้าเริ่มปิดกิจการ คนส่วนใหญ่ไม่ได้สารภาพบาปมาเป็นเวลานาน ดังนั้นท่านจึงเริ่มใช้เวลาเป็นชั่วโมง ๆ เพื่อฟังแก้บาป สัตบุรุษเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการไปสารภาพบาปอย่างสม่ำเสมอพวกเขารู้สึกว่าตนเองดีขึ้นและใกล้ชิดพระเจ้ามากขึ้นหลังจากไปสารภาพบาป บางครั้งท่านยังบอกคนที่สารภาพบาปไม่ครบให้สารภาพให้ครบถ้วนอีกด้วย ท่านสามารถอ่านใจของคนได้และท่านสามารถบอกพวกเขาได้ว่า ลืมสารภาพอะไร ท่านช่วยให้สัตบุรุษกลับใจจำนวนมากและช่วยให้พวกเขารู้จักตัดสินใจที่ถูกต้องสิ่งที่พวกเขาต้องการกระทำคือจะต้องไม่ทำให้พระเจ้าเสียใจเพราะการทำบาปของพวกเขา และพวกเขาจะต้องเสียใจที่ ได้ทำบาป เพราะบาปเป็นการทำร้ายพระเจ้า จึงต้องไปสารภาพบาปอย่างสม่ำเสมอ 

 

 


 

นักบุญยอห์น เวียนเนย์ชอบวัดเล็ก ๆ และผู้คนในเมืองอาร์ส ท่านต้องการที่จะเห็นทุกคนไปสวรรค์และท่านพยายามที่ทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้พวกเขาได้ไปสวรรค์ นักบุญยอห์น เวียนเนย์สอนเราให้เป็นคนที่ไม่รู้จักยอมแพ้ เมื่อต้องเผชิญกับสิ่งที่ยากลำบาก พระเจ้าจะประทานพลังที่เราต้องการเมื่อเราวอนขอพระองค์

 


 

 

 

วันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2565

บาปต้นประการที่ 1 : จองหอง (PRIDE)

 ❤️ ภาวนา ❤️
เดชะพระนามพระบิดา และพระบุตร และพระจิต อาแมน
" ขอพรพระเจ้าสำหรับการเรียนคำสอนของเราในวันนี้ อาแมน”


❤️อ่านเรื่องราวของ อาดัมและเอวา (อ่านปฐมกาล 3)

1.ในปฐมกาลพระเจ้าได้ทรงสร้างโลก จักรวาล และสรรพสิ่งต่าง ๆให้เกิดขึ้น รวมทั้งมนุษย์สิ่งสร้างที่พระองค์ทรงรักมากที่สุดด้วย

2.มนุษย์คู่แรกที่พระเจ้าทรงสร้าง คือ อาดัม จากอาดัมนี้เองพระเจ้าทรงสร้างเอวาให้มาเป็นคู่อุปถัมภ์ อีกทั้งยังให้ทั้งสองอยู่ในสวนเอเดนซึ่งเป็นสถานที่ที่มีความสุขมากพระองค์ตรัสสั่งแก่อาดัมและเอวาเพียงว่า “บรรดาผลไม้ทุกชนิดในสวนนี้เจ้ากินได้ทั้งหมด เว้นแต่ผลจากต้นไม้แห่งความสำนึกในความดีและความชั่ว วันใดที่เจ้าฝ่าฝืน เจ้าจะต้องตาย”

3.ในบรรดาสัตว์ที่พระเจ้าทรงสร้างมานั้นงูฉลาดกว่าหมด ซาตานปลอมตัวเป็นงูมาถามเอวาที่เป็นหญิงว่า “จริงหรือที่พระเจ้าบอกเธอว่าอย่ากินผลจากต้นไม้ต้นไหน ๆในสวน” เอวาตอบว่า “เราจะกินผลจากต้นไม้ต้นไหนในสวนนี้ก็ได้ ยกเว้นผลจากต้นไม้ที่อยู่กลางสวน พระเจ้าทรงห้ามแตะต้องหรือกินมัน มิฉะนั้นเราจะต้องตาย”

4.งูนั้นพูดว่า “เธอจะไม่ตายหรอก พระเจ้ารู้ว่าเมื่อเธอกินผลไม้นั้น เธอจะตาสว่าง เธอจะเป็นเหมือนพระเจ้า!” เมื่อเอวาเห็นผลไม้น่ากินและน่าดูจึงเก็บผลไม้นั้นมากิน แล้วเอาไปให้อาดัมกินด้วย เขาก็กิน และแล้วเขาทั้งสองก็รู้ตัวว่าเปลือยกายอยู่ จึงเอาใบมะเดื่อมาร้อยเข้าด้วยกันคลุมตัวเองไว้ แล้วหนีไปให้พ้นจากพระพักตร์พระเจ้า

5.เย็นวันนั้นพระเจ้าตรัสเรียกอาดัม “อาดัม ๆ เจ้าอยู่ที่ไหน” อาดัมตอบว่า “ผมได้ยินพระองค์ก็เกรงกลัว เพราะเปลือยกายอยู่จึงหลบซ่อน” พระเจ้าตรัสว่า “ใครบอกว่าเจ้าเปลือยกายอยู่เจ้าได้กินผลจากต้นไม้ที่เราสั่งห้ามไม่ให้กินใช่ไหม”อาดัมพูดว่า“เอวาที่พระองค์ทรงสร้างให้อยู่กับผมเด็ดมาให้ผมกิน ผมก็เลยกิน” แล้วพระเจ้าตรัสกับเอวาว่า “เจ้าทำอะไรลงไป” เอวาทูลว่า “งูมาหลอกให้ฉันกิน ฉันก็จึงได้กิน” พระเจ้าจึงได้กล่าวสาปแช่งงูอีกทั้งให้พงศ์พันธุ์ของมนุษย์และของงูเป็นศัตรูกัน


❤️ บาปต้นประการที่ 1 : จองหอง (PRIDE)❤️
1.“จองหอง” เป็นบาปที่เกิดขึ้นและเป็นรากเหง้าของบาปกำเนิดที่เกิดขึ้นจากการกระทำของอาดัมและเอวา “จองหอง” เป็นพยศชั่วที่ร้ายแรงที่สุดเพราะว่ามันเป็นสุดยอดของ “การรักเพียงตนเอง” และขัดแย้งโดยตรงต่อการอ่อนน้อมต่อพระเจ้า    
2.“จองหอง” เป็นบาปที่อันตรายที่สุดเพราะว่ามันจะทำให้ความเข้าใจต่างๆ ของเรามืดบอดไป เมื่อจิตใจของเราจะยึดติดกับความเข้าใจผิด ภาพมายาผิดๆ ไปเรื่อยๆ วันแล้ววันเล่า เฝ้าแต่จินตนาการว่าการกระทำของเรานั้นดีแล้ว ถูกต้องแล้ว จนกระทั่งกลายเป็นนิสัยถาวรที่ชั่วร้ายผิดพลาด  เมื่อเรามืดบอดไปด้วย
3.“จองหอง” นั้นเราจะไม่คิดพิจารณาว่าทักษะความสามารถต่างๆ ของเรานั้นเป็นพระพรที่พระเจ้าประทานให้แก่เรา แต่เราจะเชื่อว่าความดีเด่นเหล่านั้นเป็นของเราเองและเรามีสิทธิที่จะใช้ทักษะความสามารถนั้นอย่างไรก็ได้ตามที่เราต้องการ
4.ความจองหองของการรู้สึกว่าตนเองเหนือกว่าผู้อื่น จะทำให้ความต้องการที่จะควบคุมการดำเนินชีวิตของผู้อื่น  ต้องการที่จะทำให้ตัวเองเป็นผู้บงการผู้อื่น  มีอำนาจเหนือผู้อื่นทำให้จิตใจของเราแข็งกระด้างและไม่คล้อยตามความเห็นของผู้อื่น ไม่ยอมอยู่ใต้บังคับบัญชาของใคร การจองหองประเภทนี้เป็นการถือทิฐิ ดื้อรั้น และดันทุรังที่ทำให้เราต่อต้านพระประสงค์ของพระเจ้าแสดงกริยาเหนือกว่าทุกคนรอบข้างและทำให้เราไม่ยอมที่จะปรับตัวในการควบคุม “การรักเพียงตนเอง”ของเรา ผลที่ตามมาก็ เช่น ความโมโห ความโกรธ ความจองหอง จิตใจที่ขัดแย้งกันเอง และ ความหยิ่งยโส 

 

 

 ❤️การปรับปรุงแก้ไขสำหรับความจองหอง❤️
1.หนทางเดียวในการลดการจองหอง คือ การหมั่นปฏิบัติการนอบน้อมถ่อมตัว    
2.มองแบบอย่างพระเยซูเจ้าทรงให้ไว้แล้ว  เราต้องระลึกอยู่เสมอว่าพระเยซูคริสตเจ้าทรงตรัสไว้แล้วถึงผลของความนอบน้อมถ่อมตัวและการลงโทษทัณฑ์สำหรับความจองหอง    
3.เราต้องใกล้ชิดกับพระเจ้าและทำตามพระประสงค์ของพระองค์ด้วยสิ้นสุดจิตใจของเรา    เราต้องวอนขอความช่วยเหลือจากพระองค์ในคำภาวนาเพื่อทรงประทานคุณงามความดีนี้ให้แก่เรา    
4.เราต้องดำเนินชีวิตโดยมีพระเจ้าสถิตอยู่กับเราเสมอ  พยายามที่จะปฏิเสธตัวตนของตนเอง และแสวงหาคุณธรรมความดีของคริสตชนอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความอดทน การข่มใจ (forbearance) ทำกิจการกุศลเมตตาจิต ความสุภาพอ่อนโยน   
5.เราต้องไม่แสวงหาเกียรติยศชื่อเสียง แต่ให้เรายอมรับว่าเราเองนั้นไม่มีค่าอะไรเลยและยังขาดซึ่งคุณธรรมต่างๆ อยู่ และเราต้องตั้งใจที่จะยอมรับความอัปยศอดสูต่างๆ ได้และมุ่งมั่นที่จะแสวงหาพระเจ้าในทุกๆ สิ่ง

 


       




นักบุญคลารา แห่งอัสซีซี




 

นักบุญคลารา แห่งอัสซีซี

 

ฉลอง:  วันที่ 11 สิงหาคม เกิด: วันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ. 1194

ณ เมืองอัสซีซี ประเทศอิตาลี เสียชีวิตเมื่อ 11 สิงหาคม 1253

องค์อุปถัมภ์: งานโทรทัศน์

ผู้แสดง:  นักบุญคลารา นักบุญฟรังซิส พระสังฆราช เพื่อนผู้หญิง และผู้บุกรุก

นักบุญคลาราเกิดในครอบครัวที่ร่ำรวยในเมืองอัสซีซี ประเทศอิตาลี ในขณะที่ยังเป็นวัยรุ่นอยู่นั้น เธอเริ่มได้รับฟังเรื่องราวของบุคคลศักดิ์สิทธิ์คนหนึ่งที่อุทิศตนเพื่อคนยากจน มีชื่อว่า “ฟรังซิส” เธอเริ่มติดตามเขาและกลุ่มเพื่อนของเขา และได้พัฒนาชีวิตด้วยความยินดีและสันติสุขภายในจิตใจ                              

 



หลังจากได้ใกล้ชิดกับนักบุญฟรังซิส ที่สุดเธอได้ตัดสินใจครั้งสำคัญของชีวิตที่จะใช้ชีวิตที่เหลือทั้งหมดเพื่อสิ่งนี้ในวันอาทิตย์ใบลานพระสังฆราชได้มอบใบลานให้เธอได้ถือไว้ นี้เป็นเครื่องหมายจากพระเจ้าให้เธอไปร่วมงานกับนักบุญฟรังซิส

เธอได้ทิ้งบ้านเพื่อใช้ชีวิตอย่างยากจนเหมือนพระเยซูเจ้า นักบุญฟรังซิสได้เป็นผู้ตัดผมของเธอและมอบเครื่องแบบที่หยาบๆให้เธอสวมใส่แทนเสื้อผ้าที่งดงามราคาแพง จากนั้นนักบุญฟรังซิสได้มอบบ้านหลังหนึ่งที่อยู่ใกล้ๆ วัดนักบุญโดมีอาโนให้เธอและเพื่อนได้มาอาศัยอยู่ร่วมกัน และที่นี่เป็นสถานที่เริ่มต้นของคณะนักบวชที่มีชื่อว่า “คณะหญิงผู้ยากจน” หรือที่รู้จักในปัจจุบันว่า “คณะนักบุญคลาราผู้ยากจน”

กลุ่มของเธอต้องการที่จะดำเนินชีวิตตามกฎที่นักบุญฟรังซิสได้พัฒนาขึ้น พวกเขานอนบนพื้นไม่สวมรองเท้า รักษาความเงียบเกือบทั้งวัน ไม่กินเนื้อ และใช้เวลาเป็นชั่วโมงเพื่อการภาวนา พวกเขายังได้กินอาหารที่คนบริจาคให้ เพราะพวกเขาไม่เก็บเงินไว้ พวกเขาดำเนินชีวิตที่เต็มไปด้วยความสุขและสันติ

วันหนึ่งอารามและเมืองทั้งหมดถูกผู้บุกรุกเข้าโจมตี ทุกคนต่างตกใจกลัว แต่นักบุญคลาราได้บอกเพื่อน ๆ ของเธอว่าไม่ต้องกลัวและให้ไว้วางใจในพระเจ้า ในขณะที่ผู้บุกรุกกำลังโจมตีอารามของเธอ เธอได้นำรัศมีที่บรรจุศีลมหาสนิท ไปตั้งไว้ที่ประตูเข้าอารามและภาวนาต่อหน้าศีลมหาสนิทเพื่อขอความคุ้มครอง ผลปรากฏว่าผู้บุกรุกเกิดตกใจกลัวและถอยกลับไป พระเยซูเจ้าได้ปกป้องอารามและสมาชิกทุกคน

 

ในช่วงท้ายของชีวิตของเธอ เธอมักจะเจ็บไข้ได้ป่วยอยู่เสมอ ในคืนวันคริสต์มาสเธอป่วยหนักจนกระทั่งไม่สามารถเข้าร่วมพิธีบูชาขอบพรคุณได้ เธอเสียใจอย่างมากและได้ภาวนาขอกำลังใจจาก พระเยซูเจ้า ทันใดนั้นมีภาพของพิธีมิสซาฯ ปรากฏขึ้นมา เธอมีความยินดีมาก และนี้แหละที่เธอได้ชื่อว่า  เป็นผู้อุปถัมภ์ของผู้ทำงานโทรทัศน์

เธอเสียด้วยสาเหตุทางธรรมชาตินักบุญคลาราสอนเราให้ไว้วางใจในพระเยซูเจ้า และให้เราตระหนักถึงพลังแห่งศีลมหาสนิท