วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

นักบุญโยอากิม และ นักบุญอันนา

 นักบุญโยอากิม และ นักบุญอันนา บิดามารดาของพระนางมารีย์พรหมจารี

 


ในพระวรสารไม่ได้มีการกล่าวถึงบิดามารดาของพระนางมารีย์ แต่ในเอกสารโบราณ "พระวรสารนักบุญยากอบ"  ซึ่งไม่ถือว่าเป็นพระคัมภีร์ เป็นเพียงตำนานที่เล่าชีวิตของพระนางมารีย์ในวัยเด็กที่บอกให้เราทราบว่า บิดามารดาของพระนางมารีย์ ชื่อว่า อันนา (Anna) หรือ Hannah ซึ่งหมายถึง “พระหรรษทาน” หรือ ความโปรดปราน ส่วนชื่อโยอากิม (Joachim) ภาษาฮีบรู “Jehoyaqim” แปลว่า พระยาห์เวห์ทรงยกขึ้น” หรือ “ทรงตั้งขึ้นมา

ท่านทั้งสองสืบทอดเชื้อสายมาจากความเชื่อของท่านอับราฮัม เป็นประชากรที่ถูกวางรูปแบบโดยท่านโมเสส ซึ่งในหนังสืออพยพบรรยายไว้ในฐานะที่กระหายหาที่จะรู้จักพระพักตร์ของพระเจ้า 

 


เอกสารโบราณ “พระวรสารนักบุญยากอบ” นี้บอกให้เราทราบว่า ทูตสวรรค์ได้ปรากฏแก่นักบุญโยอากิมและอันนา แจ้งข่าวแก่ทั้งสองว่าจะให้กำเนิดบุตร และนักบุญอันนาได้สัญญาจะยกถวายบุตรให้กับพระเจ้า แสดงว่า บิดามารดาของพระนางมารีย์ได้รับการเลือกสรรจากพระเจ้า ให้อยู่ในแผนการแห่งความรอดด้วย

 ท่านทั้งสอง ได้นำพระนางมารีย์ไปที่พระวิหารเมื่ออายุ 3 ขวบ และมอบพระนางให้ถวายรับใช้แด่พระเจ้านั้นเป็นการทำตามที่นักบุญอันนาได้ภาวนาไว้ และประกาศว่าบุตรีของพวกท่านที่ชื่อ “มารีย์” ได้ถือกำเนิดมาเป็นการสนองตอบคำภาวนาอย่างศรัทธาร้อนรนหลังจากที่แต่งงานกันมานาน แต่ไม่มีบุตร

 


พระศาสนจักรให้เกียรตินักบุญโยอากิมและอันนาเพราะทั้งสอง เป็นบิดาและมารดาของพระนางมารีย์ ผู้เป็นมารดาของพระเจ้า นอกจากให้กำเนิดแล้ว ยังได้เลี้ยงดู และอบรมบ่มเพาะความเชื่อแก่พระนางมารีย์ เมื่อพระศาสนจักรรักและให้เกียรติพระนางมารีย์มาก จึงไม่แปลกที่จะรักและศรัทธานักบุญโยอากิมและอันนาด้วย โดยเฉพาะ การที่พระนางมารีย์ตอบรับต่อแผนการและพระประสงค์ของพระเจ้าด้วยความสุภาพ แสดงถึงความเชื่ออย่างเต็มเปี่ยมของผู้ที่ได้รับการอบรมมาดี

นักบุญอันนา และ นักบุญโยอากิม เป็นแบบอย่างสำหรับของพ่อแม่ที่เป็นคริสตชนทุกยุคทุกสมัย ท่านเป็ แบบอย่างของความซื่อสัตย์ และ ความขยันขันแข็ง ความศรัทธาและความถ่อมตน

พระสันตะปาปา ซิสตุส ที่ 5 ในปี ค.ศ. 1585 ได้ประกาศวันฉลองทางพิธีกรรมในวันที่ 21 พฤศจิกายน ว่าเป็นวันถวายองค์ในพระวิหารของพระนางมารีย์เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกันเป็นพิเศษเช่นนี้ 

 


คุณลักษณะโดดเด่นของแม่พระในการตัดสินใจทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า ความพร้อมของพระแม่เมื่อต้องเผชิญกับวิกฤติ การภาวนาอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย การถือตามบทบัญญัติของชาวยิวอย่างศรัทธา การอุทิศตนไปรับใช้ญาติพี่น้อง (= ช่วยนางเอลีซาเบ็ธ) สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องหมายชี้ให้เห็นถึงความใกล้ชิดของครอบครัวที่เลี้ยงดูและปลูกฝังพระแม่มาในความรักและศรัทธาในพระเป็นเจ้านั่นเอง

วันฉลอง นักบุญอันนา และ นักบุญโยอากิม ค่อนข้างมีมาแต่โบราณในพระศาสนจักรตะวันออก (ตั้งแต่ ศตวรรษที่ 4) แต่กลายมาเป็นทั่วพระศาสนจักรสากลในศตวรรษที่ 15-16 แต่เดิมวันที่ 26 กรกฎาคม เป็นวันฉลองนักบุญอันนาผู้เดียว จนกระทั่งต่อมากลายเป็นวันฉลองของบิดามารดาของพระแม่เมื่อไม่นานมานี้เอง

วันฉลองนี้ ในแง่หนึ่งเตือนใจพ่อแม่และปู่ย่าตายาย ถึงความรับผิดชอบที่จะเลี้ยงดูอบรมให้ลูกหลานถือตามคุณค่าของมนุษย์ที่ปฏิบัติกันสืบต่อๆมา และนำเสนอให้พวกเขาเห็นแสงแห่งความหวังสืบทอดต่อไปในรุ่นแห่งอนาคต ในอีกแง่หนึ่ง เตือนผู้เยาว์ว่า มุมมองที่กว้างขวางกว่าของผู้สูงอายุ ประสบการณ์ที่ลึกซึ้ง และความซาบซึ้งที่ลึกซึ้งของจังหวะชีวิตของผู้อาวุโส เป็นส่วนทั้งหมดของปรีชาญาณที่ไม่อาจมองข้ามไป หรือรับไว้โดยไม่เห็นคุณค่าความหมาย


 ขอบคุณข้อมูลจาก
คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day

และพ่อขวัญ นะคะ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น