วันพฤหัสบดีที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

นักบุญฟรังซิส อัสซีซี

 นักบุญฟรังซิสเป็นบุคคลที่มีความรักต่อพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์

 

 

      

ฟรังซิสโก เกิดในปี ค.ศ.1182 บิดาเป็นพ่อค้าที่ร่ำรวยคนหนึ่ง ชื่อว่า ปีเอโตร มารดาชื่อว่า โจวันนา เขามีลักษณะนิสัยและจิตใจอ่อนโยน น่าคบหา ใบหน้ายิ้มแย้ม พูดจาสุภาพ เข้าอกเข้าใจผู้อื่น เมื่อเป็นหนุ่ม เป็นคนฉลาด ว่องไว รักสนุก ไม่ค่อยจริงจังกับชีวิตแต่ที่ชื่นชอบของทุกคน เขาได้เรียนหนังสือกับพระสงฆ์ที่โบสถ์ อายุได้ 15 ปี บิดาก็บังคับให้เลิกเรียนและให้หันมาสนใจเรื่องการค้าขาย และเมื่อเกิดสงครามระหว่างเมืองอัสซีซีกับเปรูจา พวกอัสซีซีถูกล้อมอยู่ในที่ราบคอลเลสตราดา เขาถูกจับเป็นเชลย หลังถูกกักเป็นเชลยอยู่ 1 ปี ได้ล้มป่วยลงอย่างหนัก บรรดาญาติพี่น้องได้ไปไถ่ตัวกลับคืนมา และในระหว่างการพักฟื้นร่างกาย เขาก็ยังเริ่มฝันถึงเรื่องชื่อเสียงเกียรติยศและตัดสินใจเข้าร่วมกับขุนนางเพื่อออกเดินทางไปแคว้นปูญีอา เมื่อเดินทางมาถึงเมืองสโปเลโตเขาได้ล้มป่วยอีกและได้เห็นนิมิตที่ทำให้เขาเลิกฝันถึงเกียรติยศอย่างสิ้นเชิง เสียงสนทนาจากภาพนิมิตพูดกับเขาว่า “ฟรังซิส สำหรับเจ้าเจ้าใครมีความสำคัญกว่ากัน เจ้านายหรือคนใช้” เขาตอบว่า “เจ้านายซิ” “ถ้าอย่างนั้น ทำไมเจ้าจึงทิ้งเจ้านายเพื่อไปติดตามคนใช้เสียล่ะ” ฟรังซิสโกจึงถามด้วยความอึดอัดว่า “พระองค์ทรงประสงค์อะไรจากข้าพเจ้า” เสียงนั้นบอกเขาว่า “จงกลับไปอัสซีซี ที่นั่น เราจะบอกเจ้าว่าต้องทำอะไร”

เมื่อกลับมาอัสซีซี เขายังคงไปเฮฮากับเพื่อน แต่พระเจ้ายังคงตรัสในดวงใจของเขา จนกระทั่งวันหนึ่งเขาเริ่มปลีกตัวออกจากเพื่อน ๆ และมอบเวลาว่างส่วนหนึ่งของท่านสำหรับคนจนและโรคเรื้อน ในโอกาสไปแสวงบุญที่กรุงโรมเขาได้พบกับคนยากจนคนหนึ่งที่มุขหน้ามหาวิหารนักบุญเปโตร ได้แลกเปลี่ยนเสื้อผ้าของตนกับคนยากจนนั้น เมื่อกลับมาที่อัสซีซี ท่านได้เลิกใช้ชีวิตที่หรูหราฟุ่มเฟือย และออกไปแสวงหาสถานที่สงบเพื่อสวดภาวนาสร้างความสัมพันธ์กับพระเจ้า วันหนึ่งขณะที่ท่านขี่ม้าไปตามทุ่งหญ้าของอัสซีซีเขาได้พบกับบุรุษผู้หนึ่งที่เป็นโรคเรื้อน โดยสัญชาตญาณ เขาคิดจะหนีไปทันที แต่แล้วกลับมีพลังประหลาดที่ทำให้ท่านหยุดม้า และลงมาที่พื้นเข้าไปหาคนโรคเรื้อนนั้น โอบกอดและจุมพิตเขาราวกับเป็นพี่น้องของท่านเอง ด้วยการกระทำนี้เขาได้ขุดหลุมฝังความกลัวที่ปิดกั้นไม่ให้เปิดตัวรับพระวรสารอย่างหมดสิ้นและค่อยๆทำตัวใกล้ชิดกับพระคริสตเจ้าผู้ซ่อนพระองค์อยู่ในพี่น้องที่ทุกข์ทรมาน

ระหว่างเดินทางกลับผ่านทุ่งหญ้า เขาได้แวะสวดภาวนาที่วัดนักบุญดามีอาโนซึ่งอยูในสภาพที่หักพัง ฟรังซิสได้คุกเข่าลงสวดภาวนาต่อหน้ารูปพระเยซูผู้ถูกตรึงกางเขนใจร้อนรน เขาได้ยินเสียงของพระเจ้าตรัสกับเขาว่า "ฟรังซิสโก จงไปบูรณะบ้านของเราที่เธอเห็นว่ากำลังทรุดโทรมหมดแล้ว" ด้วยความนอบน้อมต่อพระเจ้า ท่านจึงได้นำผ้าราคาแพงไปขายที่เมืองฟอลิโญ เขากลับมาพร้อมเงินก้อนใหญ่ แวะที่วัดดามีอาโน ไปหาพระสงฆ์ผู้ดูแลวัดและถวายเงินนั้นสำหรับการซ่อมแซมวัด พระสงฆ์กลับมีความเห็นว่าฟรังซิสโกคงเป็นคนสติไม่สมประกอบ ท่านจึงได้ปฏิเสธเงินจำนวนนั้น แต่อนุญาตให้ท่านพำนักอยู่บ้านพระสงฆ์ข้าง ๆ วัดได้ 

เมื่อบิดาของเขาทราบความประพฤติแปลกๆของบุตรชาย ก็รีบไปที่วัดนักบุญดามีอาโนและต้องการให้เขากลับมาใช้ชีวิตอย่างเดิม ฟรังซิสโกได้หลบไปซ่อนตัวในถ้ำเป็นเวลา 1 เดือน หลังจากนั้นท่านจึงกลับมาที่อัสซีซี ทันทีที่เห็นหน้า บิดาก็จับเขาไปขังไว้ในบ้าน เมื่อบิดาไม่อยู่ มารดาของเขาจึงได้แอบปล่อยเขาออกมา ภายหลังบิดาจึงนำฟรังซิสไปฟ้องต่อพระสังฆราชเพื่อบังคับเขาพ้นจากการเป็นทายาทในมรดก ฟรังซิสโกจึงถอดเสื้อผ้าให้แก่บิดาและประกาศว่าต่อไปนี้ท่านจะมุ่งมันในการรับใช้พระเจ้า บิดาเที่ยงแท้ในสวรรค์เท่านั้น

หลังจากนั้นเขาแต่งกายด้วยผ้ากระสอบอย่างยากจนแต่ร่ำรวยไปด้วยการไว้วางใจในพระเจ้า เดินทางไปที่กุบบิโอเขาเริ่มงานแพร่ธรรมโดยในเวลากลางวันก็ทำงานพร้อมกับคนยากจน ในทุ่งนาและเวลาเย็นก็จะเก็บตัวสวดภาวนาอยู่ในถ้ำหรือโรงเก็บฟาง

หลายเดือนหลังจากนั้นท่านตัดสินใจเข้าสู่เมืองอัสซีซี เมื่อชาวเมืองเห็นเขาต่างเยาะเย้ยว่า คนบ้ามาแล้วแต่เขาไม่ใส่ใจกับการดูหมิ่นเหยียดหยามนั้นเขาเดินไปตามถนนประกาศให้ทุกคนรู้จัพระบิดาเจ้าสวรรค์และกระตุ้นให้มีความรักต่อเพื่อนพี่น้องตามแบบคริสตชน 

ความคิดที่จะซ่อมวัดดามีอาโน ยังคงรบกวนจิตใจ เขาจึงลงมือทำงานโดยไปขอบริจาคหิน ปูน และวัสดุอื่น ๆ ที่จำเป็น เมื่อเสร็จงานที่วัดนักบุญดามีอาโน ท่านก็ได้ปรับปรุงวัดเล็ก ๆ อีกสองวัด ซึ่งได้ใช้เวลาถึง 3 ปี จึงสามารถซ่อมแซมวัดได้สำเร็จ

วันหนึ่งขณะที่กำลังฟังพระวรสารของนักบุญมัทธิว เรื่องการส่งอัครสาวกออกไปประกาศข่าวดี (มธ.10:9-10) เขาขอให้พระสงฆ์อธิบายความหมายของพระวาจาตอนนี้ให้ฟัง พอเขาเข้าใจชัดเจนว่า ศิษย์ของพระคริสต์ต้องไม่ครอบครอง เงินทองหรือทรัพย์สิน เขาจึงอุทานว่า “นี่แหละคือสิ่งที่ฉันต้องการและปรารถนาที่จะทำ” เขาจึงสละรองเท้าและไม่เท้า เหลือเพียงเสื้อคลุมและเชือกที่รัดเอาไว้เพียงเส้นเดียว เขาเริ่มประกาศให้ทุกคนใช้โทษบาป ด้วยภาษาซื่อๆ ง่ายๆ ที่ชนะใจคนฟัง โดยทุกครั้งจะเริ่มต้นด้วยคำว่า “ขอพระเจ้าทรงประทานสันติแก่พวกท่าน”

มีบางคนเริ่มประทับใจในชีวิตของเขา จึงได้ติดตามและดำเนินชีวิตแบบเขา เมื่อได้สมาชิก 8 คนแล้ว เขาได้นำภราดาเหล่านั้นให้ดำเนินชีวิตแบบซื่อ ๆ และเรียบง่าย เป็นหนึ่งเดียวกับพระเยซูเจ้าในจิตตารมณ์แห่งความเชื่อและความปรารถนาอย่างเร้าร้อนที่จะปฏิบัติตามน้ำพระทัยของพระเจ้า เน้นการเป็นพยานยืนยันด้วยการประพฤติปฏิบัติมากกว่าคำพูด บรรดาภราดาจะทำมาหาเลี้ยงชีพของตนและในขณะเดียวกันก็พร้อมเสมอที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ทุกคน ท่านเรียกกลุ่มที่มาอาศัยอยู่กับท่านว่า “ภราดาน้อย” ต่อมาท่านได้ส่งสมาชิกของท่านออกไปประกาศข่าวดีเป็นคู่ ๆ และออกไปประกาศข่าวดีในประเทศต่างๆ มากมาย ในปี ค.ศ. 1218 พระสันตะปาปาโอโนริโอ ที่ 3 ได้รับรองพระวินัยของคณะของท่านอย่างเป็นทางการ

2 ปีก่อนที่ท่านจะมรณภาพ ฟรังซิสได้รับรอยแผลศักดิ์สิทธิ์ของพระคริสตเจ้าขณะที่ท่านภาวนาอยู่บนภูเขาแวร์นา เขาได้รับความเจ็บปวดมาก แต่ก็เปี่ยมด้วยความยินดี เขาปรารถนาจะร่วมในพระทรมานของพระองค์ ฟรังซิสได้รักษาตัวของท่านอยู่ที่ปอร์ซิอุนโคลา และยังคงเดินทางไปประกาศข่าวดียังเมืองต่างๆ และในหมู่บ้าน จนเมื่อไม่สามารถเดินทางด้วยเท้า เขาก็ขี่ลาไป จนถึงฤดูใบไม้ผลิปี 1225 เขากลับไปอยู่อัสซีซี ด้วยความเหน็ดเหนื่อยแบะการอักเสบอที่ดวงตาอย่างรุนแรงจนมองไม่เห็น ที่สุดต้องยอมรักษาดวงตาด้วยการผ่าตัดซึ่งก็ประสบความล้มเหลว ซึ่งต่อมาก็เกิดการเจ็บป่วยอื่น ๆ ของร่างกาย จนไม่สามารถรักษาได้ เขาได้ใช่ชีวิตช่วงสุดท้ายด้วยการสรรเสริญพระเจ้าและเชิญพี่น้องร่วมสรรเสริญพร้อมกับเขา และได้ถวายวิญญาณของท่านคืนแก่พระเจ้าในวันที่ 3 ตุลาคม 1226 มีอายุเพียง 44 ปี

นักบุญฟรังซิสเป็นบุคคลที่มีความรักต่อพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์เป็นอยากมาก ท่านเอาใจใส่ช่วยเหลือคนยากจนและบุคคลที่ถูกสังคมทอดทิ้งหรือรังเกียจ ซึ่งได้รับแรงบรรดาลใจจากหนังสือปฐมกาลที่บอกว่า “พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ตามภาพลักษณ์ของพระองค์พระองค์ทรงสร้างเขาตามภาพลักษณ์ของพระเจ้า” (ปฐก 1:27) และจากพระวรสารของนักบุญมัทธิวที่ว่า ท่านทำสิ่งใดต่อพี่น้องผู้ต่ำต้อยที่สุดของเราคนหนึ่ง ท่านก็ทำสิ่งนั้นต่อเรา’(มธ 25:40)

 

 

วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

นักบุญโยอากิม และ นักบุญอันนา

 นักบุญโยอากิม และ นักบุญอันนา บิดามารดาของพระนางมารีย์พรหมจารี

 


ในพระวรสารไม่ได้มีการกล่าวถึงบิดามารดาของพระนางมารีย์ แต่ในเอกสารโบราณ "พระวรสารนักบุญยากอบ"  ซึ่งไม่ถือว่าเป็นพระคัมภีร์ เป็นเพียงตำนานที่เล่าชีวิตของพระนางมารีย์ในวัยเด็กที่บอกให้เราทราบว่า บิดามารดาของพระนางมารีย์ ชื่อว่า อันนา (Anna) หรือ Hannah ซึ่งหมายถึง “พระหรรษทาน” หรือ ความโปรดปราน ส่วนชื่อโยอากิม (Joachim) ภาษาฮีบรู “Jehoyaqim” แปลว่า พระยาห์เวห์ทรงยกขึ้น” หรือ “ทรงตั้งขึ้นมา

ท่านทั้งสองสืบทอดเชื้อสายมาจากความเชื่อของท่านอับราฮัม เป็นประชากรที่ถูกวางรูปแบบโดยท่านโมเสส ซึ่งในหนังสืออพยพบรรยายไว้ในฐานะที่กระหายหาที่จะรู้จักพระพักตร์ของพระเจ้า 

 


เอกสารโบราณ “พระวรสารนักบุญยากอบ” นี้บอกให้เราทราบว่า ทูตสวรรค์ได้ปรากฏแก่นักบุญโยอากิมและอันนา แจ้งข่าวแก่ทั้งสองว่าจะให้กำเนิดบุตร และนักบุญอันนาได้สัญญาจะยกถวายบุตรให้กับพระเจ้า แสดงว่า บิดามารดาของพระนางมารีย์ได้รับการเลือกสรรจากพระเจ้า ให้อยู่ในแผนการแห่งความรอดด้วย

 ท่านทั้งสอง ได้นำพระนางมารีย์ไปที่พระวิหารเมื่ออายุ 3 ขวบ และมอบพระนางให้ถวายรับใช้แด่พระเจ้านั้นเป็นการทำตามที่นักบุญอันนาได้ภาวนาไว้ และประกาศว่าบุตรีของพวกท่านที่ชื่อ “มารีย์” ได้ถือกำเนิดมาเป็นการสนองตอบคำภาวนาอย่างศรัทธาร้อนรนหลังจากที่แต่งงานกันมานาน แต่ไม่มีบุตร

 


พระศาสนจักรให้เกียรตินักบุญโยอากิมและอันนาเพราะทั้งสอง เป็นบิดาและมารดาของพระนางมารีย์ ผู้เป็นมารดาของพระเจ้า นอกจากให้กำเนิดแล้ว ยังได้เลี้ยงดู และอบรมบ่มเพาะความเชื่อแก่พระนางมารีย์ เมื่อพระศาสนจักรรักและให้เกียรติพระนางมารีย์มาก จึงไม่แปลกที่จะรักและศรัทธานักบุญโยอากิมและอันนาด้วย โดยเฉพาะ การที่พระนางมารีย์ตอบรับต่อแผนการและพระประสงค์ของพระเจ้าด้วยความสุภาพ แสดงถึงความเชื่ออย่างเต็มเปี่ยมของผู้ที่ได้รับการอบรมมาดี

นักบุญอันนา และ นักบุญโยอากิม เป็นแบบอย่างสำหรับของพ่อแม่ที่เป็นคริสตชนทุกยุคทุกสมัย ท่านเป็ แบบอย่างของความซื่อสัตย์ และ ความขยันขันแข็ง ความศรัทธาและความถ่อมตน

พระสันตะปาปา ซิสตุส ที่ 5 ในปี ค.ศ. 1585 ได้ประกาศวันฉลองทางพิธีกรรมในวันที่ 21 พฤศจิกายน ว่าเป็นวันถวายองค์ในพระวิหารของพระนางมารีย์เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกันเป็นพิเศษเช่นนี้ 

 


คุณลักษณะโดดเด่นของแม่พระในการตัดสินใจทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า ความพร้อมของพระแม่เมื่อต้องเผชิญกับวิกฤติ การภาวนาอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย การถือตามบทบัญญัติของชาวยิวอย่างศรัทธา การอุทิศตนไปรับใช้ญาติพี่น้อง (= ช่วยนางเอลีซาเบ็ธ) สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องหมายชี้ให้เห็นถึงความใกล้ชิดของครอบครัวที่เลี้ยงดูและปลูกฝังพระแม่มาในความรักและศรัทธาในพระเป็นเจ้านั่นเอง

วันฉลอง นักบุญอันนา และ นักบุญโยอากิม ค่อนข้างมีมาแต่โบราณในพระศาสนจักรตะวันออก (ตั้งแต่ ศตวรรษที่ 4) แต่กลายมาเป็นทั่วพระศาสนจักรสากลในศตวรรษที่ 15-16 แต่เดิมวันที่ 26 กรกฎาคม เป็นวันฉลองนักบุญอันนาผู้เดียว จนกระทั่งต่อมากลายเป็นวันฉลองของบิดามารดาของพระแม่เมื่อไม่นานมานี้เอง

วันฉลองนี้ ในแง่หนึ่งเตือนใจพ่อแม่และปู่ย่าตายาย ถึงความรับผิดชอบที่จะเลี้ยงดูอบรมให้ลูกหลานถือตามคุณค่าของมนุษย์ที่ปฏิบัติกันสืบต่อๆมา และนำเสนอให้พวกเขาเห็นแสงแห่งความหวังสืบทอดต่อไปในรุ่นแห่งอนาคต ในอีกแง่หนึ่ง เตือนผู้เยาว์ว่า มุมมองที่กว้างขวางกว่าของผู้สูงอายุ ประสบการณ์ที่ลึกซึ้ง และความซาบซึ้งที่ลึกซึ้งของจังหวะชีวิตของผู้อาวุโส เป็นส่วนทั้งหมดของปรีชาญาณที่ไม่อาจมองข้ามไป หรือรับไว้โดยไม่เห็นคุณค่าความหมาย


 ขอบคุณข้อมูลจาก
คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day

และพ่อขวัญ นะคะ 

วันพุธที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2565

นักบุญ ยอห์น เวียนเนย์

 

นักบุญ ยอห์น เวียนเนย์      วันฉลอง : วันที่ 4 สิงหาคม

เกิดในปี 1786 ที่เมืองลีออง ประเทศฝรั่งเศส ตายปี 1859

องค์อุปถัมภ์ พระสงฆ์เจ้าอาวาส

ยอห์นเกิดในปี 1786 ที่ประเทศฝรั่งเศส ท่านเติบโตและทำงานในท้องทุ่งของพ่อของท่าน เมื่อท่านอายุได้ 18 ปี ท่านได้ตัดสินใจที่จะเป็นพระสงฆ์ เริ่มแรกท่านต้องได้รับการช่วยเหลือให้เรียนภาษาลาติน ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับท่านจนทำให้ท่านคิดจะล้มเลิกความตั้งใจหลายครั้งหลายหน 

วันหนึ่งท่านได้ตัดสินใจที่จะเข้าไปภาวนาในสักการะสถานของนักบุญยอห์นฟรังซิส เรยิส (นักบุญที่มีชื่อเสียงในฝรั่งเศส) ท่านภาวนาเพื่อขอให้พระองค์ ได้ช่วยเหลือในเรื่องการเรียนภาษาลาติน หลังจากที่ได้ภาวนาท่านก็ยังคงมีปัญหา แต่ท่านไม่คิดที่จะยอมแพ้หรือยกเลิกความตั้งใจ พระเจ้าประทานความเข้มแข็งให้ท่านได้เดินหน้าต่อไปแม้ว่าจะมีความยากลำบากเพียงไรในที่สุดท่านได้เข้าบ้านเณร การเรียนในบ้านเณรไม่ใช่เรื่องง่าย ท่านเรียนได้ไม่ดีนัก การสอบก็ได้คะแนนไม่ดี ท่านไม่ใช่คนที่เรียนเก่งหรือฉลาด แต่อย่างไรก็ตามพระสังฆราชคิดว่าท่านเป็นคนศักดิ์สิทธิ์และสามารถเป็นพระสงฆ์ได้ ดังนั้นพระสังฆราชจึงโปรดศีลบวชให้ท่านเป็นพระสงฆ์ 

 



พระสังฆราชส่งท่านไปเป็นเจ้าอาวาสที่เมืองเล็ก ๆ ชื่อเมืองอาร์สที่นี่ท่านเห็นคนมากมายดื่มเหล้า สบถสาบาน ด่าว่าร้ายกัน และวัดก็ว่างเปล่าวันอาทิตย์ไม่มีใครมาเข้าวัดเพื่อแก้บาปรับศีลฯ ท่านตัดสินใจที่จะภาวนาเพื่อสัตบุรุษของท่านแลtยังได้ทำกิจใช้โทษบาป เพื่อให้พวกเขาได้กลับใจ เปลี่ยนแปลงชีวิตใหม่ ต่อมาคำภาวนาของท่าน บังเกิดผล

 


สัตบุรุษเริ่มมาร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณ และโรงเหล้าเริ่มปิดกิจการ คนส่วนใหญ่ไม่ได้สารภาพบาปมาเป็นเวลานาน ดังนั้นท่านจึงเริ่มใช้เวลาเป็นชั่วโมง ๆ เพื่อฟังแก้บาป สัตบุรุษเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการไปสารภาพบาปอย่างสม่ำเสมอพวกเขารู้สึกว่าตนเองดีขึ้นและใกล้ชิดพระเจ้ามากขึ้นหลังจากไปสารภาพบาป บางครั้งท่านยังบอกคนที่สารภาพบาปไม่ครบให้สารภาพให้ครบถ้วนอีกด้วย ท่านสามารถอ่านใจของคนได้และท่านสามารถบอกพวกเขาได้ว่า ลืมสารภาพอะไร ท่านช่วยให้สัตบุรุษกลับใจจำนวนมากและช่วยให้พวกเขารู้จักตัดสินใจที่ถูกต้องสิ่งที่พวกเขาต้องการกระทำคือจะต้องไม่ทำให้พระเจ้าเสียใจเพราะการทำบาปของพวกเขา และพวกเขาจะต้องเสียใจที่ ได้ทำบาป เพราะบาปเป็นการทำร้ายพระเจ้า จึงต้องไปสารภาพบาปอย่างสม่ำเสมอ 

 

 


 

นักบุญยอห์น เวียนเนย์ชอบวัดเล็ก ๆ และผู้คนในเมืองอาร์ส ท่านต้องการที่จะเห็นทุกคนไปสวรรค์และท่านพยายามที่ทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้พวกเขาได้ไปสวรรค์ นักบุญยอห์น เวียนเนย์สอนเราให้เป็นคนที่ไม่รู้จักยอมแพ้ เมื่อต้องเผชิญกับสิ่งที่ยากลำบาก พระเจ้าจะประทานพลังที่เราต้องการเมื่อเราวอนขอพระองค์